วัดในสังฆมณฑล

หมู่ 8  ต.เขาแก้ว  อ.เชียงคาน  จ.เลย  42110

ตู้  ป.ณ.  12  อ.  เมือง  จ.  เลย  42000 โทร. 042-815473

 

บ้านท่าบมเป็นหมู่บ้านคริสตังเพียงแห่งเดียวในเขตจังหวัดเลย  อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ  45  กิโลเมตร  ตั้งอยู่ในเขตตำบลเขาแก้ว  อำเภอเชียงคาน  จังหวัดเลย  ปัจจุบันมีประชากรประมาณ  1,500  คน  เป็นคริสตัง  210  ครอบครัว  และพุทธ  130  ครอบครัว

 

บ้านท่าบมตั้งมาแล้วประมาณ  120  ปี  หลังจากตั้งหมู่บ้านได้ประมาณ  20  ปี  ศาสนาคริสต์ก็เข้ามามีบทบาท  โดยในช่วงนั้นมีครูคำสอนที่เป็นชาวเวียงคุก  อยู่ที่บ้านนาค้อ  อำเภอปากชม  จังหวัดเลย  ได้ทราบข่าวว่าเกิดเรื่องไม่สงบขึ้นที่บ้านท่าบม  คือมีเด็กเล็กๆหลายคนตาย  ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นเรื่องผี  และกำลังแสวงหาที่พึ่ง  ท่านจึงรีบมาดูแลเหตุการณ์  และได้พาชาวบ้าน  4  คน  ไปเรียนคำสอนกับท่านที่ตำบลเวียงคุก  อำเภอเมือง  จังหวัดหนองคาย  เมื่อชาวบ้านทั้ง  4  กลับมาก็มีพระสงฆ์ติดตามมาด้วย  คือ  คุณพ่อฟีแนน  ยังเต  คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (MEP) ตอนนั้นยังไม่มีวัด  คุณพ่อได้ใช้บ้านของพ่อเฒ่าอิน  เป็นที่ถวายมิสซา  และพักอาศัย  และคุณพ่อฟีแนน ยังเต  นำไม้กางเขนไปปักไว้ที่ก้อนหินใหญ่ที่ชาวบ้านแต่เดิมเชื่อว่ามีผีสิง  หลังจากนั้นความสงบสุขก็เริ่มเกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อย  ชาวบ้านเองก็เริ่มเลื่อมใสศรัทธาศาสนาคริสต์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

 

จากหมู่บ้านเล็กๆที่เมื่อก่อนมีเพียง  5-6  ครอบครัว  ได้กลายมาเป็นหมู่บ้านใหญ่  ช่วงเวลา  40  ปีที่ผ่านไปนั้น  มีผู้คนจากหมู่บ้านที่ห่างไกลอพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งทำมาหากินอยู่เรื่อยๆ  หมู่บ้านนี้จึงเริ่มขยายกว้างออกไป  ในระยะนั้นมี  20  หลังคาเรือนที่สมัครเข้าเป็นคริสตัง

 

ครูคำสอนคนแรกของหมู่บ้าน  คือ  ครูทวง  เป็นชาวเวียงคุก  ต่อมาจึงมีครูคำสอนที่เป็นชาวบ้านท่าบมเอง  คือ  ครูดวง  ครูโสม  ครูตัน  ครูฤทธิ์  ครูบิน  ส่วนปัจจุบันมีครูสุภาพ  ครูพิทยา  และครูสุนันท์

 

ต่อจากคุณพ่อฟีแนน  ยังเต  มีพระสงฆ์ทยอยกันมาประจำที่หมู่บ้านนี้  เช่น  คุณพ่อตีโบ (MEP) คุณพ่ออันโตนิโอ (MEP) คุณพ่ออัลแบร์ (MEP) และคุณพ่อคำเขียน  เป็นคนที่ย้ายวัดจากบ้านของพ่อเฒ่าอินมาประจำอยู่ที่ศาลาประชาคม  คุณพ่อคำเขียนมรณะที่นี่  ประมาณ  2-3  ปี  ก่อนที่จะเกิดสงครามโลกครั้งที่  2  (สงครามอินโดจีน)

 

นับได้ราว  40  ปี  ที่ศาสนาคริสต์เข้ามาในหมู่บ้าน  สงครามโลกครั้งที่  2  จึงเกิดขึ้น  ในช่วงเวลาที่เกิดสงครามโลกปี  พ.ศ.  2483  ศาสนาคริสต์ถูกเบียดเบียนข่มเหงมาก  ทางราชการได้ส่งปลัดมาด  และพรรคพวกมาบังคับให้ชาวบ้านทุกคนเลิกนับถือศาสนาคริสต์  นอกจากนั้นยังทำลายรูปเคารพต่างๆ  และท้ายสุดได้ปิดวัดคริสต์ทำเป็นโรงเรียนของรัฐบาล  นำศาสนาพุทธเข้ามา  เวลานั้นไม่มีพระสงฆ์ประจำอยู่ที่ท่าบมเลย

 

ความระส่ำระสายเริ่มขึ้นเมื่อรูปถูกทำลาย  พระสงฆ์ก็ไม่มี  วัดถูกเปลี่ยนสภาพให้กลายเป็นโรงเรียน  ชาวบ้านถูกบังคับและขู่เข็ญให้เข้าศาสนาพุทธ  และกราบไหว้พระพุทธรูป  แต่ถึงแม้พวกเขาจะถูกขู่เข็ญต่างๆนานา  แต่ความเชื่อและความศรัทธาภายในจิตใจของชาวบ้านยังมั่นคงอยู่และแข็งแกร่งอยู่ตลอดเวลา  ชาวบ้านได้แต่สวดภาวนากันในใจ  เพราะถ้าหากว่าสวดภาวนากันอย่างเปิดเผยเมื่อใด  ก็จะถูกเจ้าหน้าที่จับเมื่อนั้น  ผู้ใหญ่บ้านในสมัยนั้น  คือ  นายสั้น  เวลาไปประชุมที่อำเภอจะถูกเจ้าหน้าที่สอบถามเสมอว่า  ลูกบ้านยังสวดภาวนากันอยู่หรือเปล่า  ท่านตอบว่าเลิกสวดแล้ว  ถ้าไม่เชื่อก็ไปดูเอาเอง  เจ้าหน้าที่ก็เชื่อตามคำบอกเล่าของผู้ใหญ่บ้าน  มีผู้เล่าในช่วงนั้นมีสิงห์สาราสัตว์มีงูใหญ่มากมายเข้ามารบกวนชาวบ้านทุกวัน  บางครั้งก็เข้ามาพักพิงนอนในบ้านด้วย  หลังจากที่ถูกเบียดเบียนอยู่ประมาณ  8  ปี  คุณพ่อคาร  โสรินทร์  จากมิสซังท่าแร่  เป็นคนแรกที่เข้ามาประจำที่นี่  (ปี  ค.ศ.  1950)  วันแรกที่ท่านมาถึงนั้น  ท่านแต่งตัวแบบทหารซ้ำยังขู่ชาวบ้านว่า  ยังนับถือศาสนาคริสต์อยู่หรือเปล่า  ชาวบ้านตกใจกลัวกันมาก  แต่วันต่อมาเห็นสายประคำอยู่กับตัวท่าน  จึงพากันดีใจ  คนที่ทิ้งศาสนาไปแล้วก็กลับมาอีก  ที่ไม่กลับมาก็มีบ้าง  ท่านทำให้ชาวบ้านมีความเชื่อ  และศรัทธาต่อศาสนาคริสต์มากยิ่งขึ้น  ท่านอยู่บ้านท่าบมไม่นานก็กลับไปท่าแร่ดังเดิม  และตั้งแต่เวลานั้นเป็นต้นมาก็มีพระสงฆ์คณะพระมหาไถ่ (CssR) ที่มาดูแลวัดที่บ้านท่าบม  คือ  คุณพ่อเคน  (ปี  ค.ศ.  1951)

 

ในสมัยของคุณพ่อเคน  ท่านมาทำมิสซา  5-6  เดือนต่อครั้งเท่านั้น  และพักอยู่กับชาวบ้านราว  1-2  สัปดาห์แล้วจึงกลับไป  ท่านทำเช่นนี้อยู่เป็นเวลา  2  ปี  เวลาทำมิสซาก็ใช้ศาลากลางบ้าน  ส่วนที่พักก็ใช้บ้านของพ่อเฒ่าล้วน  หลังจากนั้น  คุณพ่อคลาเรนต์  ดูฮาร์ต  (ปี  ค.ศ.  1954)  ได้เข้ามาอยู่ประจำ  ท่านได้สร้างวัดให้แก่ชาวท่าบม  และได้ตั้งชื่อว่า  วัดราฟาแอล  สิ่งนี้นำความยินดีมาสู่ชาวท่าบมเป็นอย่างยิ่ง  ศาสนาคริสต์จึงเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ  ชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างบ้านพักพระสงฆ์ไว้หลังหนึ่ง  ซึ่งตั้งอยู่บริเวณโรงเรียนหลังปัจจุบัน

 

ต่อมามีพระสงฆ์ผลัดเปลี่ยนกันมาอยู่ประจำ  เช่น  คุณพ่อมอริสี  (ปี  ค.ศ.  1958)  คุณพ่อวีรพงษ์  และคุณพ่อแฮรี่  (ปี  ค.ศ.  1964)  ท่านได้สร้างโรงเรียนหลังปัจจุบันนี้ขึ้น  ชื่อว่าโรงเรียนมารดาพิทักษ์วิทยา  เพื่ออบรมลูกหลานชาวคริสตังทั้งหลาย

ในสมัยของคุณพ่อแฮรี่  ได้นำชาวบ้านเดินสวดภาวนาตามถนนรอบวัดในช่วงเทศกาลปัสกา  เพื่อระลึกถึงพระมหาทรมานของพระเยซูเจ้า  นอกจากนั้นท่านยังได้ตั้งกลุ่มคณะพลมารีขึ้นอีกด้วย

 

เมื่อคุณพ่อแฮรี่ย้ายไป  คุณพ่อโทนี่  ก็มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสแทน  (ปี  ค.ศ.  1966)  ท่านได้พัฒนาด้านการศึกษาให้ดีขึ้น  โดยเพิ่มเติมอุปกรณ์การเรียนการสอน  การกีฬา  ตลอดจนพัฒนาบริเวณสถานที่ให้กว้างใหญ่ขึ้นกว่าเดิม  และยังได้จัดตั้งกรรมการสภาวัดขึ้นเป็นครั้งแรก  นอกจากนั้นก็ยังมีกลุ่มโรงสี  แต่ก็ต้องล้มเลิกไป  เพราะชาวบ้านทำไร่ทำนา  ไม่มีเวลามาดูแล  ต่อมาก็ตั้งกลุ่มเลี้ยงวัว  ซึ่งดำเนินกิจการมาจนถึงปัจจุบัน  และได้จัดตั้งกลุ่มธนาคารข้าว  นอกจากนี้ท่านยังได้นำไม้กางเขนไปปักไว้บนภูน้อย  ซึ่งตั้งอยู่ใกล้หมู่บ้าน  ในช่วงเทศกาลปัสกาด้วย

 

พระสงฆ์องค์ต่อมคือ  คุณพ่อมิลเลอร์  (ปี  ค.ศ.  1970)  ท่านได้สร้างบ้านพักพระสงฆ์หลังปัจจุบันขึ้น  ยังได้ดูแลกิจการต่างๆ  ของโรงเรียน  และวัดเป็นอย่างดีตลอดมา

 

ต่อจากนั้นเป็นพระสงฆ์ไทยคณะพระมหาไถ่  คือ  คุณพ่อไพโรจน์  สมงาม  (ปี  ค.ศ.  1974)  ท่านได้สร้างหอระฆังวัดเพิ่มเติมอีกทั้งดูแลกิจการของโรงเรียนและวัด  ให้เจริญยิ่งขึ้น  ประเพณีการไปสวดที่ภูน้อยก็ยังคงมีอยู่เช่นเดิม  เมื่อท่านย้ายไปก็มี  คุณพ่อไมเกิล  เช  มาดำรงตำแหน่งแทน

 

ในสมัยคุณพ่อเช  (ปี  ค.ศ.  1976)  เป็นช่วงที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  ถูกเวียดนามยึดครอง  ชาวลาวได้อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก  จึงเกิดมีศูนย์อพยพผู้ลี้ภัยชาวลาวขึ้นตามแนวชายแดนไทย  และที่อำเภอปากชม  จังหวัดเลยก็ทีแห่งหนึ่ง  ชื่อว่าบ้านวินัย  ซึ่งในจำนวนนี้มีคาทอลิกอยู่ด้วย  เมื่อคุณพ่อเชทราบ  ท่านได้ไปเยี่ยม  และทำมิสซาที่นั่นอาทิตย์ละครั้ง

 

เนื่องจากคนกลับใจเข้าศาสนามีมาก  วัดหลังเก่าไม่เพียงพอที่จะรับคนได้ทั้งหมด  คุณพ่อจึงสร้างวัดหลังใหม่ให้แก่ชาวบ้าน  ดังที่เราเห็นตั้งโดดเด่นสง่างามอยู่ในปัจจุบันนี้  ซึ่งนำความปลื้มปิติมาสู่ชาวบ้านเป็นอย่างมาก  ท่านยังได้สร้างโรงอาหารและเสาธง  และโครงการ  ซี.ซีเ.อฟ.  ก็จัดขึ้นในสมัยของท่านด้วย  มีครั้งหนึ่งที่ฝนทิ้งช่วงไม่ตกตามฤดูกาล  ชาวบ้านเดือดร้อนมาก  ท่านจึงพาชาวบ้านไปสวดภาวนาและทำมิสซาที่น้ำตกและเขื่อน  ประเพณีนี้ยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

 

พระสงฆ์ที่มาภายหลังคุณพ่อเช  ก็มีคุณพ่อมีแชล  แลนด์  เป็นพระสงฆ์คณะธรรมทูตแห่งมารีนิรมล (OMI) (ปี  ค.ศ.  1982)  ท่านมาอยู่ที่ท่าบมเพียงระยะเวลาสั้นๆ  ต่อมาก็เป็นคุณพ่อฟรังซัว  เปรอน (OMI) (ปี  ค.ศ.  1982)  ท่านได้ทำให้กิจการต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา  และด้านศาสนาก้าวหน้าไปมาก  ไฟฟ้าเริ่มมีใช้ในหมู่บ้าน  แต่ยังขาดน้ำประปา  ท่านได้ออกสำรวจและพบว่าบ้านท่าบมนั้นมีน้ำตกอยู่ไม่ไกลนัก  ควรที่จะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์  ท่านจึงได้ชักชวนชาวบ้านให้รู้จักความเสียสละเพื่อส่วนรวม  ไม่ว่าจะเป็นด้านกำลังกายกำลังใจ  หรือกำลังทรัพย์  ร่วมกันทำน้ำประปาเพื่อใช้ในหมู่บ้านจนสำเร็จ  นอกจากนั้นท่านยังได้สร้างกำแพงวัด  สร้างห้องสมุดโรงเรียน  สร้างศูนย์คำสอน  สร้างฉางข้าวใหม่  สร้างโรงเรียนอนุบาล  ฯลฯ  ชาวบ้านท่าบมรู้สึกซาบซึ้งในการที่ท่านได้ทุ่มเทกำลังกายใจ  เพื่อพัฒนาสิ่งต่างๆ  ในหมู่บ้านให้เจริญยิ่งขึ้น  ไม่ว่าจะเป็นด้านวัตถุหรือจิตใจ  ความเชื่อความศรัทธาของชาวบ้าน  ท่านเปรียบเสมือนพ่อ  ที่คอยสอดส่องดูแลเอาใจใส่  ห่วงใยลูกๆ  อย่าสงแท้จริง  นอกจากนั้นในสมัยของท่าน  ซิสเตอร์และคณะธิดาเมตตาธรรมก็ได้เริ่มเข้ามาช่วยงานของวัดด้วย

 

และล่าสุดธนาคารกรุงเทพ  ได้มาสร้าวสนามบาสฯ  ให้กับเด็กนักเรียนและเยาวชน  ในขณะเดียวกันโรงเรียนอัสสัมชัญ  บางรัก  กรุงเทพฯ  โรงเรียนเซนต์คาเบรียล  สามเสน  และผู้ศรัทธาอีกหลายท่านโดยการนำของ  บราเดอร์วิจารณ์  ทรงเสี่ยงชัย  คณะเซนต์คาเบรียล  ได้ร่วมกันสร้างอาคารคอนกรีต  2  ชั้น  จำนวน  8  ห้องเรียน  ให้ชื่อว่า อาคารเซนต์คาเบรียล พร้อมกันนั้นก็ได้สร้างโรงอาหาร  และห้องน้ำเพิ่มอีก  12  ห้องด้วย

 

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้  ย่อมแสดงให้เห็นว่า  พระญาณสอดส่องของพระเป็นเจ้า  สถิตอยู่กับท่านตลอดมา  ศาสนาของพระองค์จึงเจริญเติบโตขึ้นเป็นลำดับ  ตั้งแต่สมัยเริ่มแรก  สมัยถูกเบียดเบียน  จนกระทั้งถึงปัจจุบัน

 

คาทอลิกมัลติมีเดี่ย

Banner
Banner
Banner
Banner
Banner