วัดในสังฆมณฑล

ต.  หนองเดิ่น  อ.บุ้งคล้า  จ.หนองคาย

ตู้  ป.ณ.5  อ.  บึงกาฬ  จ.  หนองคาย  43140  โทร.  081 9744662

 

ชาวบ้านห้วยเล็บมือ  เดิมอพยพมาจากหมู่บ้านพงวิน  แขวงคำม้วน  ตอนใต้ประเทศลาว  เป็นชนเผ่าไทยเทิง  (ภาษาพื้นบ้านเรียกว่า  พวกข่า)  เมื่อเกิดสงครามศึกฮ่อขึ้น  ชาวบ้านก็ต้องอพยพหนี  บางกลุ่มถูกจับไปเป็นทาส  และต่อมา  คุณพ่อเดอลาเลกซ์  ชาวฝรั่งเศสได้ไถ่พวกเขาให้เป็นอิสระ

นายหลวง  เสาะก่าน  นายเพีย  ท้าวดี  และนายเพียชัย  คุณสิงห์  ได้พากันชักชวนพี่น้องชาวไทเทิงจำนวนหนึ่ง  ล่องแพมาตามลำน้ำหินบูน  (ซึ่งไหลลงสู่แม่น้ำโขง  ตรงข้ามอำเภอท่าอุเทน  จังหวัดนครพนมในปัจจุบัน)  พักอยู่ที่ปากแม่น้ำหินบูนระยะหนึ่ง  แล้วล่องแพทวนน้ำโขงขึ้นมาจนถึงบ้านห้วยเซือม    อยู่ที่นั่น  2  ปี  เพราะเห็นว่าไม่เหมาะจึงย้ายลงมาอยู่ที่ท่าศาลา  (ปัจจุบันเป็นป่าช้าพุทธ  หมู่บ้านหนองคังคา)  อยู่ที่นี่  2  ปี  เห็นว่าไม่เหมาะในการทำมาหากิน  จึงย้ายขึ้นมาอยู่ที่หมู่บ้านภูทอก  ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นหมู่บ้านห้วยเล็บมือ

หมู่บ้านห้วยเล็บมือปัจจุบัน  ขึ้นกับตำบล  หนองเดิ่น  กิ่งอำเภอ  บุ่งคล้า  จังหวัด  หนองคาย  แรกเริ่มตั้งหมู่บ้านมีประมาณ  20 หลังคาเรือน  ปัจจุบันมี  46  หลังคาเรือน  65  ครอบครัว  ประชากรทั้งสิ้น  315  คน  หมู่บ้านแห่งนี้จะต้องมีผู้อยู่อาศัยจำนวนมากกว่านี้  แต่ทั้งนี้เป็นเพราะชาวบ้านจำนวนหนึ่ง  (ประมาณ  25  ครอบครัว)  ได้พากันย้ายไปตั้งถิ่นฐานไปทำมาหากินที่บ้านภูสวาท  ซึ่งห่างจากหมู่บ้านเดิมประมาณ  3  กิโลเมตร  (ติดกับทางหลวง)

ชาวไทเทิงมีอาชีพสืบต่อกันมาคือ  การทำไร่ตามภูเขา  ดังคำพูดที่ว่า ภูสูงไว้ให้ข่า  นากว้างไว้ให้ลาว ปัจจุบันชาวบ้านยังยึดอาชีพทำไร่  และทำนาเสริมอีกด้วย

ความเจริญในอดีตที่พอจะกล่าวถึง  ก็คือเมื่อประมาณ  45  ปีที่แล้ว  มีโรงเรียนหลังแรกซึ่งมีครูกาจากบ้านหนองบัวลำภู  จังหวัดอุดรธานี  เป็นผู้ดูแล  ตั้งอยู่ที่บ้านพักพระสงฆ์ในปัจจุบัน  (ตอนนั้นเป็นสงครามอินโดจีน  จึงไม่มีพระสงฆ์พักประจำ)  ใช้ประมาณ  3  ปี  จึงย้ายไปตั้งอยู่  ณ  โรงเรียนบ้านห้วยเล็บมือในปัจจุบัน

หมู่บ้านห้วยเล็บมือ  เป็นหมู่บ้านคาทอลิกมาตั้งแต่เริ่มแรก  ตั้งแต่คุณพ่อเดอลาเล็กซ์ได้ไถ่พวกเขาให้เป็นอิสระ  และปลูกฝังความเชื่อให้แก่ผู้สนใจนับถือศาสนา  และในจำนวนนี้กลุ่มหนึ่งได้อพยพย้ายถิ่นฐานหากินจนมาหยุดอยู่  ณ  สถานที่แห่งนี้  ซึ่งความเชื่อถือในอดีตได้ถ่ายทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน คุณภาพชีวิตของชาวบ้าน  และความเจริญทางศาสนา  ได้เข้ามาโดยทางพระสงฆ์ผู้แพร่ธรรมตามลำดับดังนี้

คุณพ่อเดอลาเล็กซ์  ได้ข้ามมาจากฝั่งลาว  มาทำมิสซาให้เป็นครั้งคราว  ใช้บ้านชาวบ้านเป็นศูนย์รวม

คุณพ่อมารียนต์  รับช่วงต่อมาจนมรณกรรม

คุณพ่อซาพีแน้ง  ซึ่งอยู่ที่บ้านแก้งต้องรับหน้าที่ดูแลแทนทุกครั้งที่จะข้ามมาทำพิธี  ท่านจะเป่าแตรทองเหลือง  เพื่อเป็นสัญญาณให้ชาวบ้านไปรับ  คุณพ่อได้สร้างวัดหลังแรกขึ้น  (ที่ทำการ  ซี.ซี.เอฟ.  ปัจจุบัน)  โดยใช้เสาไม้ ฝาไม้ไผ่  และขี้ควายผสมปูนขาวโบกต่างซีเมนต์  ต่อมาได้สร้างบ้านพักพระสงฆ์หลังปัจจุบัน  (ซึ่งได้ต่อเติมในสมัยของคุณพ่อองค์ต่อๆมา)  สร้างกำแพงรอบบ้านพัก  ภายในปลูกมะนาวและเผือกมัน  ชั้นบนใช้เป็นวัด  1  ส่วน  และห้องนอน  1  ส่วน

กรณีพิพาทอินโดจีน  คุณพ่อซาพีแน้ง  ต้องไปอาศัยอยู่ฝั่งลาวเพื่อความปลอดภัย  การเบียดเบียนเข้ามาแทนที่  ตำรวจได้นำ ปลัดเมธ (คำว่าปลัด : พระผู้ใหญ่)  ซึ่งประจำอยู่ที่บึงกาฬ  มาที่หมู่บ้านห้วยเล็บมือ  ชักชวนชาวบ้านมาฟังเทศน์  ให้ละทิ้งศาสนาคาทอลิก

ประมาณ  2  ปีต่อมี  คุณพ่อแท่ง  จากบ้านดอนโดน  (ประเทศลาว)  มาบอกชาวบ้านว่าการเบียดเบียนศาสนาได้จบสิ้นแล้ว  แต่ชาวบ้านยังไม่มั่นใจ  เพราะกลัวว่าจะเป็นเหมือนห้วยเซือมที่มีคนมาบอกเช่นกัน  ในขณะนั้น  ในหมู่บ้านมีประมาณ  25  ครัวเรือน  คุณพ่อมา  3  เดือนครั้ง  มาอยู่ครั้งละประมาณ  1  สัปดาห์

คุณพ่อคาร  โสรินทร์  มาฟื้นฟูศาสนา  ตักเตือนให้กลับคืนสู่ความเชื่อดังเดิม

ในสมัย  คุณพ่อศรีนวล  ศรีวรกุล  ชาวบ้านกลับคืนสู่ศาสนามากขึ้น  เพราะค่อนข้างจะแน่ใจ  และยังมั่นใจ  (ละทิ้งผี)  มากที่สุดว่าศาสนาคืนมาแล้ว  เมื่อคุณพ่อได้พาคุณพ่อดูฮาร์ตมาด้วย    (ชาวบ้านเห็นเป็นฝรั่งจึงมั่นใจว่าศาสนาคืนมาแน่)  คุณพ่อดูฮาร์ดทำหน้าที่ดูแลแทน  โดยมาอยู่ที่ห้วยเล็บมือ  1  สัปดาห์  และอยู่ที่ห้วยเซือมอีก  1  สัปดาห์  ต่อมามอบหน้าที่ให้คุณพ่อลีแอร์  แต่คุณพลาดตกสะพาน  แขนหัก  ต้องไปรักษาตัว  ท่านดูฮาร์ดซึ่งจากไป  1  ปีเต็ม  ก็ต้องกลับมารับหน้าที่แทนอีกครั้งหนึ่ง

ท่านดูฮาร์ดพาคุณพ่อโกโตรมาด้วย  คุณพ่อไปมาระหว่างบ้านเวียงคุก  กับห้วยเล็บมือ  และอยู่ที่บ้านห้วยเล็บมือครั้งละ  1  เดือน  ดูแลประมาณ  2  ปี  จึงได้สร้างวัดหลังปัจจุบันขึ้น

คุณพ่อโบลิน  รับช่วงต่อ  ช่วงนี้ชาวบ้านต้องประสบปัญหาเรื่องน้ำท่วมไร่นาทุกปี  โดยเฉพาะในปี  2509  ซึ่งร้ายแรงที่สุด  คุณพ่อนั่งเครื่องบินมาประกาศว่าจะไม่ได้มาจนกว่าน้ำจะแห้ง  ขณะเดียวกันก็นำสิ่งของมาช่วยบรรเทาทุกข์  โดยเฉพาะข้าวสาร  คุณพ่อไม่ได้ให้ฟรีๆ  แต่ให้ไปขนหินขนทรายจากฝั่งโขงขึ้นมาไว้ซ่อมแซมดัดแปลงวัก  คิวละ  1  กระสอบ

คุณพ่อดิ๊กสตร๊าส  เป็นคุณพ่อที่อยู่ประจำ  เป็นผู้นำความเจริญทางการเกษตรมาให้  ได้แก่แตงกว่าลายพันธุ์อเมริกัน  ลำไย  มะม่วง  และมันสำปะหลัง  ซึ่งไปซื้อพันธุ์มาจากบ้านโนนสา  เป็นต้น  ขณะนั้นในหมู่บ้านมีประมาณ  60  หลังคาเรือน

คุณพ่อไมเกิล  เช หมอชาวบ้าน ผู้ลือชื่อจนถูกโรงพยาบาลประท้วง  และตำรวจห้ามให้เพลาลงบ้าง  ทั้งนี้เพราะทั้งพุทธ  คริสต์  จากใกล้  ไกล  นิยมคุณพ่อมาก  ไม่นิยมไปโรงพยาบาลบึงกาฬ

คุณพ่อต้องดูแลห้วยเซือมด้วย  ในส่วนของวัดห้วยเล็บมือนั้น  ได้ให้บราเดอร์คอร์นี่  จัดทำรูป  14  ภาค  ติดฝาผนัง  ม้านั่งในวัด  และฝาวัดด้วย

คุณพ่อเล้ง  โคธิเสน  ยุคน้ำไหลไฟสว่าง  มาถึงแล้ว  คุณพ่อนักพัฒนาได้ร่วมกับชาวบ้าน  ซื้อเครื่องจากโรงสี  นายศรีฟอง  คุณสิงห์  และดัดแปลงเป็นเครื่องทำไฟฟ้า  เพื่อบริการให้ชาวบ้าน  คิดค่าบริการหลอดละ  18  บาท  ต่อเดือน  บริการตั้งแต่  18.00  น.  ถึง  21.00  น.

คุณพ่อวราศักดิ์  บูรณพล  โครงการซี.ซี.เอฟ.  ช่วยบรรเทาความยากจนของชาวบ้านได้เกิดขึ้น  มีสำนักงานอยู่ติดฝั่งโขง  ในหมู่บ้านมี  41  หลังคาเรือน  โครงการเพื่อหารายได้เพิ่มพูนได้เกิดขึ้น  เช่น  โครงการประมง  โครงการปลูกกระเทียม  เป็นต้น

คุณพ่อเล้ง  กลับมาเป็นเจ้าอาวาสอีกครั้ง  มี  คุณพ่อบุญรอด  เวียงพระปรกมาเป็นผู้ช่วย  ประจำที่หมู่บ้าน  ประมาณ  1  ปี  จึงย้ายวัดไปห้วยเซือม

คุณพ่อปรีดา  โอนากุล  มาอยู่ต่อประมาณ  3  เดือน

คุณพ่อพิชาญ  ใจเสรี  มาประจำ  ได้สร้างถ้ำแม่พระบริเวณหน้าวัดสวยงามมาก

คุณพ่อชูชาติ  ศรีวิชัยรัตน์  ได้บูรณะซ่อมแซมวัดครั้งใหญ่  เปลี่ยนหลังคาใหม่  ทาสีวัด  และยังหาเงินสร้างสนามกีฬา  สำหรับเยาวชนและเด็กๆ  ทำกำแพงอิฐบล็อกรอบวัด

พ.ศ.  2539  คุณพ่อโกวิทย์  เจริญพงศ์  เป็นเจ้าอาวาส

พ.ศ.  2540  คุณพ่ออำนวยศิลป์  ทองอำไพ  เป็นเจ้าอาวาส

พ.ศ.  2541  คุณพ่อจักรายุทธ  ปาละลี  เป็นเจ้าอาวาส

 

คาทอลิกมัลติมีเดี่ย

Banner
Banner
Banner
Banner
Banner